ผลงาน ของ หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์)

อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์พิเศษอินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ) ที่อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ หน้าอาคารสถาบันเกษตราธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้านการเกษตร

อินทรี จันทรสถิตย์ได้ดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญและได้ส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรตลอดที่ได้ทำงานราชการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่พื้นเมืองและนำเข้าพืชพรรณต่าง ๆ จากต่างประเทศมาเผยแพร่ เช่น ดอนย่า ต้นอินทนิลสีชมพู นุ่นพันธุ์โต มะรุมผักยาว พู่จอมพล เป็นต้น ท่านริเริ่มส่งเสริมการผลิตใบยายาสูบ ขยายงานส่งเสริมการเกษตรในระดับภาคให้มีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในส่วนภูมิภาค และได้พัฒนาปรับปรุงพืชพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร เช่น การต่อตาพันธุ์ทุเรียนที่ใกล้สูญพันธุ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมของจังหวัดนนทบุรีในปี พ.ศ. 2485 รวมถึงส่งเสริมกิจการการประมงโดยจัดสรรที่ดินให้กรมประมงและส่งเสริมโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสาขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณภายหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้พัฒนางานทางด้านการเกษตรในมหาวิทยาลัยด้วยการทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมด้านวิชาการ เช่น จัดพิมพ์วิทยาสารเกษตรศาสตร์ จัดประชุมวิชาการเกษตรในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งยุวกสิกร เป็นต้น

ด้านการศึกษา

อินทรี จันทรสถิตย์ได้ริเริ่มพัฒนาการเรียนการสอนและวางรากฐานการศึกษาทางการเกษตรให้กับประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่ของสถานศึกษาเพื่ออำนวยการเรียนการสอน เช่น การก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาขณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ การก่อสร้างสถานีเกษตรกลางบางเขนซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้พัฒนามหาวิทยาลัย จัดตั้งคณะใหม่ ๆ และพัฒนาอาคารสถานที่ให้พอเพียงกับการเรียนการสอนและการวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ริเริ่มให้มีการตั้งชื่ออาคารของมหาวิทยาลัยตามชื่อบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการเกษตร รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมนิสิตและก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย